กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ณ ประเทศที่มีรอยยิ้มมากที่สุดในโลกที่สาม มีศาลาว่าการจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งประชาชนมาติดต่อราชการกันมากมาย บรรดาพ่อค้าทั้งหลาย ต่างพากันยื้อแย่งแข่งขัน เพื่อสัมปทานขายอาหารที่นี่ และ...เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนิทาน ทางจังหวัดจึงอยากให้การชิงสัมปทาน เป็นไปด้วยความยุติธรรม ดังนั้น งานประจำปีจึงถูกจัดขึ้น เพื่อให้ร้านค้ามาขายประชันกัน น่าแปลกใจ ที่นับแต่อดีต ร้านที่มาแข่งขันต่างก็ขายแต่ "ข้าวมันไก่" ซึ่งทางจังหวัดไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะใช้มาตรการต่างๆ เช่น ตั้งกองทุน SMEข้าวหมูแดง หรือจัดสัปดาห์ข้าวหน้าเป็ด ถึงกระนั้น บรรดาพ่อค้าก็ยังคง ยืนยันจะขายข้าวมันไก่อยู่นั่นเอง
แล้วงานประจำปีก็มาถึง แต่ละร้านเตรียมตัวกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นร้าน "ความหวังไก่" ที่มีพ่อค้าเป็นทหารเก่าร้าน "รสชาติพัฒนา" ที่มีเจ้าของร้านสองคน ร้าน "ชาติไก่" ของพ่อค้าร่างสั้น ณ เมืองสุพรรณ และร้านตัวเต็งสองร้านคือ "ประชาไก่น่ากัด" ของอดีตครูประชาบาลลูกชาวบ้าน กับอีกหนึ่งร้านใหม่ "ไก่รักไก่ (มหาชน)"
ไหนๆก็ไม่มีทางเปลี่ยนพ่อค้าเหล่านี้ให้ขายอาหารประเภทอื่นได้แล้ว ทางจังหวัดจึงอยากยกระดับข้าวมันไก่ ให้กลายเป็นของขึ้นหน้าขึ้นตาของจังหวัด พร้อมตั้ง "คณะกรรมการไก่ตอน" หรือ กกต. ขึ้นเพื่อควบคุมการแข่งขัน และตรวจสอบคุณภาพไก่ แต่แม้ว่า ก.ก.ต. จะทำงานอย่างจริงจัง คุณภาพของไก่ก็ยังแกว่ง บางครั้งมีการนำไก่ไม่ดีมาแขวนไว้เตรียมขาย ก.ก.ต. ก็ต้องสอยไก่ที่แขวนไว้ในร้านไปเก็บ แต่ถ้าเผลอ ทางร้านก็จะเอามาแขวนใหม่ ทำให้ต้องแขวน และสอยกันหลายรอบ ร้าน"ประชาไก่น่ากัด" เป็นเจ้าของสัมปทานเก่าที่เข้ามารับสัมปทาน
ขณะเกิดวิกฤตศรัทธาข้าวมันไก่อย่างหนัก ซึ่งว่ากันว่าวิกฤตนี้ต้นเหตุน่าจะมาจากร้าน "ความหวังไก่" ที่ติดราคาไว้ 27 บาท แต่พอเรียกเก็บเงิน เจ้าของร้านจะบอกราคาด้วยนำเสียงอบอุ่น ดังคนแก่ที่ใจดีที่สุดในโลกว่า จานละ 59 บาทนะลูก นอกจากนี้ บรรดาลูกของเด็กเสิร์ฟยังชอบมากวนคนในร้าน ลูกค้าก็ไม่กล้าโวย เพราะเกรงเด็กเสิร์ฟปากร้ายนิสัยนักเลงคนนี้ ทำให้คนเข้าร้านน้อยลง และลูกจ้างก็พากันลาออก แม้ว่าเมียเจ้าของร้านจะพยายามอุ้มช้างบูชาราหู ก็ไร้ผล
ดังนั้นการเข้ามารับช่วงสัมปทานของร้าน"ประชาไก่น่ากัด" จึงถูกใจชาวบ้านร้านตลาดมาก เพราะเป็นร้านที่เปิดบริการมาหลายชั่วคน อีกทั้งเจ้าของร้านก็เป็นคนที่น่านับถือ สูตรน้ำจิ้มไก่ใส่น้ำผึ้งก็เด็ดขาด การค้าช่วงแรกจึงราบรื่นดี แต่ภายหลังค่าแก๊ส ค่าไก่ มีราคาสูงขึ้น กิจการเริ่มประสบปัญหา จำนวนไก่ต่อจานน้อยชิ้นลง จานชามแตกหักสกปรก พอถูกถาม เจ้าของก็บอกว่าไม่ทราบ เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนสับไก่กับคนล้างจาน พอชาวบ้านถามคนสับไก่ก็จะได้คำตอบว่า จำนวนชิ้นไก่จะขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ส่วนคนล้างจานก็บอกว่า ช้อนส้อมจานชาม เซ้งมาจากเจ้าของสัมปทานร้านที่แล้ว เจอไม้นี้เข้า ชาวบ้านก็ได้แต่ทำตาปริบๆ
การเปิดร้านของเถ้าแก่คนใหม่ ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีความหวังกับรสชาติที่แตกต่างออกไป ตามสโลแกนของร้านที่ว่า "คิดไก่ ทำไก่" เถ้าแก่คนใหม่ได้ปฏิวัติแนวทางการขายอย่างสิ้นเชิง มีการนำหลักวิชาการตลาดเข้ามาช่วย ทั้งการแบ่ง Market Segmentation และนำโปรโมชั่นต่างๆมาล่อใจ ไม่ว่าจะเป็นการ พักหนี้ข้าวมันไก่ 3 เดือนของลูกค้าเงินเชื่อ หรือกินไก่ทั้งตัว ตัวละ 30 บาท ผลก็คือ ทำให้ร้านนี้เป็นร้านที่คนเข้ามากที่สุดในงานประจำปี แม้จะมีข้อสงสัยว่า โปรโมชั่นเหล่านี้จะเอาเงินมาจากไหน แต่ได้ยินมาแว่วๆว่า เถ้าแก่ไม่สนใจหรอก แค่ได้สัมปทานข้าวมันไก่นี้ หุ้นร้านแกก็ขึ้นหลายหมื่นจุดแล้ว...